บุรีรัมย์เปิดตลาดต้องชม “ถมหมืดถมมอ” พร้อมเล่าขานตำนานเมืองนางรองเสริมท่องเที่ยวและรายได้
ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เปิดตลาด “ถมหมืดถมมอวอล์คกิ้งสตรีท” อำเภอนางรอง จ.บุรีรัมย์ พร้อมเล่าขานตำนานเมืองนางรอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน คาดมีเงินสะพัดหลายแสน
(10 มิ.ย.60) นางวิโลวรรณ ทัพวงศ์ศรี ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายดำรงชัย เนรมิตตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ , นายเพชร สุพพัตกุล นายอำเภอนางรอง , นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ และนายมาโนช ตันเจริญ
นายกเทศมนตรีเมืองนางรอง ร่วมเปิดตลาดต้องชม “”ถมหมืดถมมอวอล์คกิ้งสตรีท” บริเวณถนนณรงค์ดำริและถนนสืบสหการ ในเขตเทศบาลเมืองนางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ พร้อมจัดการแสดงเล่าขานตำนานเมืองนางรอง ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ มีภาษาท้องถิ่นเฉพาะ ซึ่งชื่อตลาดถนนคนเดินถมหมืด ถมมอ ก็เป็นภาษานางรองที่แปลว่า “มากมาย ถมเถ”
ตลอดสองข้างทางของตลาดประดับตกแต่งด้วยเสานางรอง สะท้อนถึงวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนางรองด้วย ซึ่งการเปิดตลาดต้องชมถมหมืด ถมมอ ครั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน ทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีกทางหนึ่งด้วย โดยตลาดต้องชมถมหมืด ถมมอ เป็นหนึ่งในตลาดต้องชมต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นเวทีการแสดงออกทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของชาวนางรองที่มีมายาวนาน โดยจะเปิดทำการค้าขายตั้งแต่เวลา 16.00 – 22.00 น. ทุกวันศุกร์ และเสาร์ มีพ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านนำสินค้าพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ชุมชน พืชผักปลอดสารที่ปลูกเอง รวมถึง ขนมไทย มาวางจำหน่ายมากกว่า 300 ร้าน เชื่อว่าการเปิดตลาดต้องชมถมหมืด ถมมอ ครั้งนี้จะมีเงินสะพัดวันละหลายแสนบาท
นางวิโลวรรณ ทัพวงศ์ศรี ที่ปรึกษาการพาณิชย์ การเปิดตลาดต้องชมเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เป็นแหล่งรวบรวม กระจายผลผลิตต่างๆ ของชุมชน ทั้งผลผลิตทางการเกษตร หัตถกรรม งานศิลปะ เพื่อยกระดับรายได้ให้กับคนในชุมชน ทั้งเป็นการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน เพื่อสะท้อนจุดเด่น สร้างจุดขายดึงดูดให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในชุมชนมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง
ด้านนายมาโนช ตันเจริญ นายกเทศมนตรีเมืองนางรอง กล่าวว่า การเปิดตลาดถนนคนเดินถม หมืด ถมมอ เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนในพื้นที่นำสินค้ามาวางจำหน่ายกว่า 300 ร้าน มีเงินสะพัดวันละ 3 – 4 แสนบาท นอกจากนั้นยังเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้จัดแสดงศิลปวัฒนธรรม และการแสดงที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตอีกด้วย
ที่มาภาพ//ข่าว : สุรชัย พิรักษา / สวท บุรีรัมย์