บุรีรัมย์ – แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันวิสาขบูชา อีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นวันที่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่าง “จันทรุปราคา” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กบกินเดือน” หรือ “แคเรีย” ในภาษาเขมรบุรีรัมย์อีสานใต้
แคเรีย แคแปลว่า เดือน,ดวงจันทร์ เรีย แปลว่า การค่อยๆแผ่ปกคลุมทาบทับ,ค่อยเป็นค่อยไป แคเรีย จึงหมายถึงการที่เงาค่อยๆทาบทับดวงจันทร์ ถูกเรียกขานกันมาตามความเชื่อโบราณของชาวบ้านที่เชื่อกันมานมนาน โดยวันที่เกิดปรากฏการณ์แคเรีย ชาวบ้านจะมีกิจกรรมหลักๆคือการ “เคาะ” เคาะเพื่ออะไร?
เพื่อปลุกสรรพสิ่งที่หลับไหลในช่วงที่เกิดแคเรีย ให้ตื่นจากภวังค์ เพราะเชื่อกันว่า หากใครหรือสรรพสิ่งใดยังคงหลับไหลภายใต้แสงจันทราที่ค่อยๆถูกกลืนกินไปทีละเล็กทีละน้อย จะถูกลงทัณฑ์ด้วยคำที่เรียกว่า “เรียเจือน”
เรียเจือน (มาจากคำว่า แคเรียเจือน แปลว่า ถูกจันทรุปราคาเหยียบย่ำ,เจือน แปลว่าเหยียบ) เชื่อกันว่าเป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ของสรรพสิ่งที่ไม่ได้ตื่นอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดแคเรีย เช่น หากคนท้องไม่ได้ตื่นขึ้นมาในคืนแคเรีย หากลูกเกิดมาป่วยบ่อย ออดๆแอดๆ จะเชื่อกันว่าเป็นเพราะเรียเจือน ไม่เพียงแค่คนเท่านั้น หากต้นมะพร้าวไม่ออกลูก หรือมีลูกไม่สมประกอบ จะเชื่อกันว่ามะพร้าวต้นนี้ไม่ได้ถูกเคาะเรียกในคืนแคเรียทำให้ถูกเรียเจือน เป็นต้น
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรามักจะถูกคนเฒ่าคนแก่ปลุกให้ลุกขึ้นมากลางดึก บางปีมีแคเรียตอนตี 2-3 ก็จะถูกปลุกขึ้นมา เสียงเคาะบ้านเคาะเรือนดังทั่วหมู่บ้าน แต่นั่นก็ถือเป็นความเชื่อโบราณที่ยากที่จะพิสูจน์ความจริงได้และยังคงฟังดูเข้มขลังในเวลาเดียวกัน
ลักษณะของแคเรียตามความเชื่อโบราณอีสานใต้จะมี 3 ลักษณะคือ
- จุ (ขับถ่าย) หมายถึงลางดีที่ทำอะไรก็สะดวก ทำมาหากินลื่นไหล เงาจะทาบดวงจันทร์ลงมาจนสุดและหายไปอีกทาง
- กเจียะ (คาย) หมายถึงลางที่บอกถึงความไม่ก้าวหน้า จะทำอะไรก็ทีแต่ถอยกลับมาที่เดิม เงาจะทาบดวงจันทร์และกลับออกไปในทิศทางเดิม
- ทเลือย ปัวะ (ท้องแตก) หมายถึงลางที่จะมีอุปสรรคแต่ก็สามารถฝ่าฟันไปได้ เงาจะทาบเข้าและออกไปในระหว่างทาง