บุรีรัมย์ – โรงเรียนสารสาสน์วิเทศ กำลังมีโครงการก่อสร้างอาคารเรียนที่จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณถนนเส้นทางไปชุมเห็ด
สำหรับ“โรงเรียนในเครือสารสาสน์” โรงเรียนที่เคยมีรายได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศโดยมีนายพิบูลย์ ยงค์กมล ประธานอำนวยการโรงเรียนในเครือสารสาสน์ จากวันแรกมีนักเรียนเพียง 400 คน กระทั่งปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 90,000 คน สู่โรงเรียนที่เคยได้ชื่อว่ามีรายได้มากที่สุดในประเทศ เผยเหตุผลสร้างโรงเรียนเพราะต้องการให้ครูมีรายได้.
นายพิบูลย์ มาจากครอบครัวที่เป็นสัตบุรุษ วัดนักบุญมาการีตา บางตาล มีพี่น้อง 9 คน เขาต้องไปอยู่บ้านเณรที่ “สามเณราลัยแม่พระนิรมลราชบุรี” หรือเด็กวัดในศาสนาคริสต์ เขาเรียนที่โรงเรียนบางตาล แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม จนจบมัธยมฯ 6 เริ่มต้นชีวิตครูครั้งแรกตั้งแต่อายุ 18 ปี ที่ดรุณานุเคราะห์.
เป็นครูอยู่เกือบปี เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มุ่งมั่นจะมาเรียนต่อด้านก่อสร้าง แต่ไม่มีเงิน สุดท้ายต้องกลับเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพครูอีกครั้งที่โรงเรียนเปรมฤดี สอนไปด้วย เรียนไปด้วย โดยสอบเทียบวุฒิ ม.8 วัดสุทัศน์ฯ แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สอนที่เปรมฤดีได้ 9 ปี พิบูลย์ตัดสินใจออกมาร่วมหุ้นกับเพื่อนทำโรงเรียนแห่งแรก คือ สารสาสน์พิทยา สาธุประดิษฐ์ เป็นทั้งผู้บริหาร ครูใหญ่ ครูน้อย ออกข้อสอบ พิมพ์ข้อสอบ ทำไปทำมาเพื่อนถอนหุ้นหมด.
ปี 2512 พิบูลย์ ชวนพี่สาวมาร่วมหุ้น เช่าที่ของกรมธนารักษ์ สร้างโรงเรียนแห่งที่ 2 คือ สารสาสน์พัฒนา ลุยอยู่ 2 ปี ไม่มีกำไร พี่สาวตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด ทำให้เขาต้องเปลี่ยนแผนใหม่ เพราะหากทำแค่โรงเรียนสายสามัญ เก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 450 บาท ไม่มีทางได้กำไรคืนทุนแน่ เขาหันไปลงทุนเปิดโรงเรียนพาณิชย์สาธุประดิษฐ์ เนื่องจากโรงเรียนพาณิชย์สามารถเก็บค่าเล่าเรียนได้ถึง 3,000 บาท เริ่มปีแรกมีเด็กสมัครเรียนเพียง 80 คน ปีต่อๆ มามีเด็กจบ ม.3 มาสมัครเกือบ 500 คน ประกอบกับแนวคิดเรื่องการเรียนสายอาชีพเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้โรงเรียนพาณิชย์สร้างรายได้เติบโต อย่างต่อเนื่องและจุนเจือโรงเรียนสายสามัญทั้งสองแห่ง.
พิบูลย์มองไปไกลอีกว่า โรงเรียนต้องมีการพัฒนาด้านภาษา เขาจัดการส่งลูกชาย 2 คนไปเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการทดลองเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษ “เอ็กซ์ตร้า” ที่ “สารสาสน์พิทยา” ก่อนเปิดเป็นโรงเรียนสองภาษาแห่งแรกใช้ชื่อว่า สารสาสน์เอกตรา เมื่อปี 2537.
การเปิดโรงเรียนสองภาษาถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ “สารสาสน์” เนื่องจากหลักสูตรสองภาษา สามารถเพิ่มอัตราค่าเล่า เรียนแบบก้าวกระโดดจากไม่กี่ร้อยบาทเป็นปีละ 20,000 บาท ขณะเดียวกัน ปรับเพิ่มวิชาภาษาอังกฤษในหลักสูตรสายสามัญ โดยคิดค่าเรียนเพิ่มจากปกติอีก 4 วิชา 4,000 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกได้เรียนภาษาอังกฤษเข้มข้นขึ้น เพียงแต่มีเงื่อนไขคือ ใช้ครูไทยเป็นผู้สอน ไม่ใช่ครูต่างชาติเหมือนหลักสูตรสองภาษา.
จากโรงเรียนสายสามัญแห่งแรกที่สารสาสน์พัฒนา ค่าเทอมเทอมละ 450 บาท วันนี้เพิ่มเป็น 3,000 บาท บวกวิชาภาษาอังกฤษอีก 4 วิชา 4,000 บาท หลักสูตรสองภาษาจากปีละ 20,000 บาท เป็น 50,000-60,000 บาท ล่าสุด พิบูลย์เริ่มเปิดหลักสูตรนานาชาติที่สารสาสน์วิเทศบางบอน คิดค่าเล่าเรียนปีละ 1 แสนบาท เพื่อขยายตลาดในกลุ่มชนชั้นกลาง.
จนถึงล่าสุด เครือสารสาสน์มีโรงเรียนทั้งหมดเเกือบ 50 แห่ง(ปี2555) แบ่งเป็นโรงเรียนหลักสูตรสองภาษา หลักสูตรสามัญและหลักสูตรอาชีวศึกษาอีก โดยเฉพาะช่วง 20 ปีหลัง สารสาสน์ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ทั้งการสร้างโรงเรียนและซื้อกิจการโรงเรียนเก่ามาทำใหม่.
นายพิบูลย์เคยได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเลือกทำเลเอง ผมมีนายหน้าหาที่ดินแล้วก็นั่งรถไปดูที่ อย่างเวลานี้เป็นยุคของหมู่บ้านจัดสรร คนซื้อบ้านต้องมีครอบครัว มีลูกก็ต้องไปโรงเรียน หมู่บ้านจัดสรรต้องอาศัยโรงเรียน บางแห่งมีกฎข้อบังคับต้องเหลือที่ดิน 7-8 ไร่ เปิดโรงเรียนเพื่อแลกสิทธิประโยชน์บีโอไอ ไม่ต้องเสียภาษี ที่หมู่บ้านสยาม พระสมุทรเจดีย์ ก็แบบนี้ ผมเปิดโรงเรียนสารสาสน์สมุทรสารมีเด็กร่วม 3,000 คน”.
สำหรับการลงทุนโรงเรียนแห่งหนึ่งใช้เงินไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าที่ดิน 20-30 ไร่ ประมาณร้อยกว่าล้าน ก่อสร้างอาคารอีก 70-80 ล้านบาท พิบูลย์บอกว่า ธนาคารยินดีปล่อยเงินกู้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีหลักประกันด้านรายได้จากหลักสูตรสองภาษา ต้องการเงินลงทุนก็กู้ ปีหนึ่งเสียดอกเบี้ยปีละ 70 ล้านบาท.
นายพิบูลย์เคยยอมรับว่า สารสาสน์โตได้เพราะสองภาษา ถ้าเปิดสอนเฉพาะสายสามัญ อาศัยเพียงเงินค่าเทอมไม่กี่พันบาทและเงินอุดหนุนจากรัฐ ไม่มีทางขยายสาขาได้มากมาย จากนักเรียนสารสาสน์พิทยารุ่นแรกเพียง 400 คน วันนี้เครือสารสาสน์ทั้งหมดเกือบ 50 แห่ง มีนักเรียนรวมกว่า 90,000 คน เพิ่มขึ้นปีละ 4,000-5,000 คน .
ซึ่งหมายถึงสารสาสน์ยังขยายได้อีกไม่จำกัด แต่ปัจจัยสำคัญมาจากคุณภาพและการไม่หวังกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว เขาขยายโรงเรียนสารสาสน์ไม่หยุดไม่ใช่ไม่รู้จักพอ ทั้งที่โรงเรียนแห่งเดียวก็กินใช้ได้ไม่หมด แต่ทำเพราะครูส่วนใหญ่ยังลำบาก อยากช่วยครูมีรายได้ ครูมีเงินซื้อรถยนต์ อยู่ดีกินดี จุดสูงสุดคือ ครูมีรายได้ดี โรงเรียนไปได้ดี และเด็กมีคุณภาพ ทั้งหมดมาจากความเป็นครูที่เริ่มจาก “ศูนย์” ทำให้ “สารสาสน์” ขยายใหญ่โตได้อย่างทุกวันนี้ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000100339